ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โทร 052-080778
นายเจริญ ซ้อนฝั้น
นายกองค์การบริหารส่วนตำบล โทรศัพท์0843782356
นายบดินทร์ คล้อยคล้า
ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล โทรศัพท์0854265973

ขณะนี้ 10 คน
สถิติวันนี้ 492 คน
สถิติเดือนนี้ 15869 คน
สถิติปีนี้ 127328 คน
สถิติทั้งหมด 1917192 คน
ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2557
 

ความรู้เรื่องโรคความดันโลหิตสูง (17 ก.พ. 59)

ความดันโลหิตสูง


          โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นหนึ่งในโรคที่คนปัจจุบันเป็นกันมาก และคนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ตัวว่าเป็น โรคความดันโลหิตสูง แต่หากปล่อยให้เป็น โรคความดันโลหิตสูง ไปนาน ๆ อาจนำมาซึ่งโรคร้ายอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย วันนี้ กระปุกดอทคอม มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับ โรคความดันโลหิตสูง มาบอกเพื่อเป็นความรู้กันค่ะ
อย่างไรจึงเรียกว่า โรคความดันโลหิตสูง

          โดยปกติทุกคนจะมีความดันโลหิตที่จะคอยผลักดันเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งอัตราปกติหัวใจของคนเราจะเต้นอยู่ประมาณ 60-80 ครั้ง ความดันก็จะเพิ่มขณะที่หัวใจบีบตัวและลดลงขณะที่หัวใจคลายตัว ทั้งนี้โดยปกติคนจะมีระดับความดันโลหิต 120/80-139/89 มิลลิเมตรปรอท แต่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้ว่า หากใครมีความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง 

          อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตของคนไม่เท่ากันตลอดเวลา เพราะขึ้นอยู่กับสิ่งต่าง ๆ เช่น สภาพแวดล้อม ท่าทาง อากัปกิริยา เช่น หากวัดความดันโลหิตในท่านอนจะมีค่าสูงกว่าท่ายืน รวมทั้งช่วงเวลาระหว่างวัน จิตใจ อารมณ์ ความเครียด อายุ เพศ ฯลฯ ก็เป็นสาเหตุให้ระดับความดันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

          ทั้งนี้ โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน แต่คนกว่า 70% มักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่เมื่อเริ่มมีอาการแล้วจึงเริ่มใส่ใจรักษา ซึ่งบางครั้งก็อาจไม่ทันท่วงที

โรคความดันโลหิตสูง นำไปสู่โรคร้ายอะไร

          ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจะมีความดันโลหิตเลี้ยงไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่สม่ำเสมอ ซึ่งนำมาสู่โรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจ โรคไตวาย เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อัมพาต อัมพฤกษ์ ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตโดยเฉียบพลันได้

โรคความดันโลหิตสูง

ระดับความรุนแรงของ โรคความดันโลหิตสูง

ความรุนแรงของ โรคความดันโลหิตสูง แบ่งเป็น 3 ระยะคือ

           ระดับที่ 1 ความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก ค่าความดันโลหิตระหว่าง 140-159/90-99 มม.ปรอท

           ระดับที่ 2 ความดันโลหิตสูงระยะปานกลาง ค่าความดันโลหิตระหว่าง 160-179/100-109 มม.ปรอท

           ระดับที่ 3 ความดันโลหิตสูงระยะรุนแรง ค่าความดันโลหิตมากกว่า 180/110 มม.ปรอท

          ทั้งนี้ การวัดความดันโลหิตควรจะวัดขณะนอนพัก และควรวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นความดันโลหิตสูงจริง ๆ

สาเหตุของ โรคความดันโลหิตสูง

          สาเหตุของการเป็นโรคความดันโลหิตสูงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนใหญ่จะพบโรคความดันโลหิตสูงในกลุ่มคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีอาการป่วยบางประเภท เช่น อาการป่วยเกี่ยวกับสมอง ต่อมหมวกไต และต่อมไร้ท่อบางประเภท รวมทั้งโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เช่น โรคโลหิตจางอย่างรุนแรง เบาหวาน เป็นต้น

อาการของผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง

          ปกติแล้วผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมักไม่ปรากฎอาการใด ๆ ให้ทราบ อาจพบอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ เหนื่อยง่ายผิดปกติ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หรือนอนไม่หลับ สูญเสียความจำ สับสน มึนงง ซึ่งล้วนเป็นอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ นั่นจึงทำให้คนไม่เอะใจ จึงไม่ได้รับการรักษา และควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับเหมาะสม ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้

ปวดหัว

ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง

          โรคความดันโลหิตสูง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 2 กรณีคือ

          1. ภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงโดยตรง คือ 

          -  ภาวะหัวใจวาย ที่เกิดจากหัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้ผนังหัวใจหนาตัว เกิดหัวใจโต และหัวใจวายตามมา

          -  หลอดเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน 

          2. ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดแดงตีบหรือตัน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมทั้งหลอดเลือดสมองตีบ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวายเรื้อรังจากการที่เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอได้ รวมทั้งอาการตาบอดที่เมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูงอาจทำให้หลอดเลือดแดงในตาค่อย ๆ เสื่อมลง จนอาจมีเลือดออกที่จอตา ทำให้ประสาทตาเสื่อมจนตาบอดได้

          ทั้งนี้ มีข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงหากไม่ได้การรักษาอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย 60-75%, เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองอุดตัน หรือแตกราว 20-30% และเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรัง 5-10% 

ปัจจัยเสี่ยงต่อ โรคความดันโลหิตสูง

          - พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม พบว่า คนประมาณ 30-40% ที่บิดามารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูง จะมีแนวโน้มเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่า คนที่ไม่มีประวัติในครอบครัว

          - ความเครียด หากคนมีความเครียดสูง อาจทำให้ความดันโลหิตสูงไปด้วย

          - อายุ โดยปกติเมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่สำหรับโรคความดันโลหิตสูง มักพบในผู้ที่อายุ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ในอายุต่ำกว่านี้ก็สามารถพบได้เช่นกัน

          - เพศ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวัยหมดประจำเดือน

          - รูปร่าง มักพบในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือคนอ้วนมากกว่าคนผอม

          - เชื้อชาติ มักพบในคนอเมริกัน เชื้อสายแอฟริกา หรือกลุ่มผิวสี 

          - พฤติกรรมการกิน ผู้ที่ชอบทานเค็ม ทานเกลือ มักมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าคนปกติ

          - สภาพภูมิศาสตร์ ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองมักมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ที่อยู่อาศัยในชนบท เพราะมีความเครียด และสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายรบกวนจิตใจอารมณ์มากกว่า

ความดันโลหิตสูง

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง

          สามารถทำได้ 2 ทางคือ การใช้ยา และไม่ใช้ยา โดยในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เริ่มรู้ตัวว่าเป็น แพทย์จะสามารถรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ โดยป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน แต่สำหรับผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย แพทย์จะต้องให้ยา และพยายามควบคุมระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ

การป้องกัน และข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่เป็น โรคความดันโลหิตสูง

          - ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันโลหิตสูงอย่างสม่ำเสมอ

          - หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด เพราะเกลือจะทำให้ความตึงตัวของผนังหลอดโลหิตแดงเพิ่มขึ้น 

          - หลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มไขมันจากสัตว์ เช่น กะทิ เนื้อสัตว์ รวมทั้งอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาลขัดขาวทุกชนิด เพราะจะทำให้น้ำหนักตัว และระดับไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น 

          - งดสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจดื่มได้ในปริมาณพอเหมาะ คือ วิสกี้ 2 ออนซ์ หรือ ไวน์ 8 ออนซ์

          - พยายามควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้อ้วนมากเกินไป เพราะความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้

          - ออกกำลังกายให้พอควรและสม่ำเสมอ ด้วยการเดินเร็ว ๆ  วิ่งเหยาะ ๆ  หรือปั่นจักรยาน ประมาณ 15-20 นาที อย่างน้อย 3-6 ครั้งต่อสัปดาห์

          - พักผ่อนให้เพียงพอ

          - ทำจิตใจให้เบิกบาน ไม่เครียด

ความดันโลหิตสูง

เคล็ดลับวิธีลดความดันโลหิตสูง

          นอกจากการรักษาและป้องกันแล้ว เราสามารถลดระดับความดันโลหิตได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

          - ลดปริมาณเกลือ ด้วยการหันมาทานอาหารที่มีธาตุโพแทสเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งมีมากในผักและผลไม้สด อย่าง กล้วย มันฝรั่ง และผักใบเขียวต่าง ๆ 

          - ดื่มน้ำสมุนไพร เช่น ขึ้นฉ่าย กระเจี๊ยบแดง และบัวบก

          - ผ่อนคลายความเครียดด้วยการฟังเพลง

          - ใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นต่าง ๆ ช่วยผ่อนคลายอารมณ์และความเครียด

          - นั่งสมาธิวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที จะช่วยรักษาระดับความดันโลหิตได้

          เห็นแล้วว่าสิ่งที่จะช่วยป้องกันความดันโลหิตสูงได้ก็คือ เลี่ยงการกินเค็ม งดปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย และพยายามอย่าเครียด เพราะหากป่วยความดันโลหิตสูงขึ้นมาแล้ว อาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมองที่ปัจจุบันมีคนป่วยจำนวนไม่น้อยเลย





 

 
 
 
 
Copyright © 2014-2024 โดย องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง - www.namboluang.go.th
องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง เลขที่ 222 หมู่ที่ 2 ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ 50120 โทรศัพท์ (052) 080778 โทรสาร (052) 080935 , (052) 080926 Email:namboluang@gmail.com

เว็บไซต์ออกแบบและพัฒนาโดย www.click2solutions.com